LOCAL TAI-YUAN CULTURAL CENTER, SARABURI

Posted: November 3, 2008 in Travel

หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี

เมื่อวันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสกลับไปเยี่ยมเยียนอาจารย์ที่ท่านเคยสั่งสอนผมมา โดยเฉพาะวิชาลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ เมื่อครั้งสมัยที่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสระบุรีวิทยาคม จังหวัดสระบุรี แต่ตอนนี้ท่านเกษียณอายุราชการมาหลายปีแล้ว ซึ่งตั้งแต่ผมเรียนจบชั้น ม.ศ. 5 มาในปี พ.ศ. 2521 ผมก็มีโอกาสได้กลับไปพบท่านเพียงครั้งเดียวในช่วงที่ผมบวชเป็นพระ แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้พบท่านอีกเลยเป็นเวลากว่า 20 ปี เมื่อทราบข่าวจากเพื่อนๆ ว่าตอนนี้อาจารย์ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการก่อตั้งชมรมไทยวนสระบุรี และท่านก็เคยถามถึงผมจากเพื่อนๆ ที่เคยแวะไปเยี่ยมเยียนท่านมาแล้ว เพราะท่านก็ไม่เคยได้ข่าวคราวของผมเช่นกัน จึงยิ่งทำให้ผมอยากจะไปพบและพูดคุยกับท่านให้หายคิดถึง อาจารย์ที่ผมกำลังจะกล่าวถึงนี้คือ อาจารย์ทรงชัย วรรณกุล นั่นเอง ซึ่งผมเชื่อว่าศิษย์ สบว. รุ่นเก่าๆ ทุกคนย่อมรู้จักคุ้นเคยกับท่านเป็นอย่างดี

หลังจากที่ได้ไปทอดกฐินกับเพื่อนๆ ที่วัดเสาไห้ จังหวัดสระบุรีแล้ว ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ผมกับเพื่อนๆ ก็ได้แวะไปพบอาจารย์ทรงชัยที่ “บ้านเขาแก้ว” ซึ่งเป็นที่พำนักของอาจารย์และฝั่งตรงข้ามก็เป็นที่ตั้งของ “หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี” รวมทั้งเป็น “พิพิธภัณฑ์เรือลุ่มแม่น้ำป่าสัก” อีกด้วย จากการที่ได้พูดคุยกับอาจารย์ในฐานะลูกศิษย์ ก็ได้ความพอสรุปดังนี้

สาเหตุที่อาจารย์ได้คิดริเริ่มก่อตั้งหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวนขึ้น ก็เนื่องมาจากแนวความคิด 3 ส. คือ ส. แรก – สืบสาวเรื่องราวความเป็นมา ส. ที่สอง – สานต่อวัฒนธรรมให้คงไว้ และ ส. ที่สาม – เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีในชุมชนไทยวนด้วยกัน เมื่อคิดได้ดังนั้น อาจารย์จึงได้เริ่มต้นด้วยการสืบสาวเรื่องราวว่า จริงๆ แล้วชุมชนไทยวนที่ตั้งรกรากอยู่ในอำเภอเสาไห้และอีกหลายอำเภอในจังหวัดสระบุรี หรือแม้กระทั่งชาวไทยวนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดราชบุรีนั้นมีถิ่นกำเนิดมาจากไหนกันแน่ อาจารย์ได้ใช้เวลาศึกษาค้นคว้าอยู่นานทีเดียว ทั้งจากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังมีชีวิตอยู่และจากพงศาวดารต่างๆ ที่พอจะหาได้ จนได้ข้อมูลที่ตรงกันจึงทำให้เชื่อได้ว่า แท้จริงแล้วชาวไทยวนนั้นไม่ได้เป็นชนพื้นเมืองของจังหวัดสระบุรี หรือราชบุรี แต่ตามที่อาจารย์ทรงชัยได้เล่าให้ฟังนั้น ไทยวน (อ่านว่า ไท-ยวน ไม่ใช่ ไทย-วน) น่าจะเชื่อได้ว่ามาจาก ไท – โยนก หรือคนไทยเมืองเหนือหรือไทยล้านนา ไม่ใช่ ญวน (เวียดนาม) ที่หลายคนเข้าใจกัน

ตามประวัติที่อาจารย์ทรงชัยเล่าให้ฟัง แรกเริ่มเดิมทีชาวไทยวนนั้นมีถิ่นฐานอยู่ลุ่มแม่น้ำโขงตรงบริเวณที่เรียกว่าเมืองหรือเวียงโยนก คำว่าโยนกเป็นภาษาบาลีซึ่งมาจากคำว่า ยะนะ หรือเยนะ ฉะนั้นคนไทที่อาศัยอยู่เมืองโยนกจึงเรียกตัวเองว่า ไทโยนก หรือไทโยนะกะ หรือไทยวน เมืองโยนกในปัจจุบันคือเมืองเชียงแสนในจังหวัดเชียงราย ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นถิ่นกำเนิดของชาวไทยวนทั้งหมด แต่ต่อมาก็ได้อพยพไปอยู่ตามภาคเหนือของไทย หรือบ้างก็ถูกพม่าจับเป็นเชลย พอถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงมีพระบัญชาให้พระยายมราชยกทัพหลวงไปร่วมกับหัวเมืองฝ่ายเหนือ เพื่อทำการกวาดล้างพม่าที่ยึดครองเมืองเชียงแสนอยู่ในขณะนั้นให้สิ้นซากไป หลังจากตีเมืองเชียงแสนได้สำเร็จแล้ว จึงได้ทำการเผาป้อมปราการและกำแพงเมืองทิ้งเสีย พร้อมกับกวาดต้อนผู้คนที่พม่าจับไว้เป็นเชลยซึ่งก็ได้แก่ชาวไทยวนจำนวนกว่า 2 หมื่นคนลงมาด้วย ในระหว่างนั้น ชาวไทยวนบางกลุ่มก็ขอไปตั้งถิ่นฐานใหม่อยู่ที่เชียงใหม่ น่าน ลำปาง อุตรดิตถ์ เช่น ไทยวนที่อำเภอลับแล ท่าปลา ตรอน เป็นต้น ส่วนที่อพยพลงมาทางใต้ตามทัพหลวงซึ่งนำโดยพระยายมราชนั้นก็เลือกมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ลุ่มแม่น้ำป่าสักในเขตอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี และอีกส่วนหนึ่งก็ลงไปถึงจังหวัดราชบุรีในปัจจุบัน

ชาวไทยวนที่อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ได้สืบเชื้อสายกันมากว่า 5 ชั่วคน และกระจายกันอยู่ตามอำเภอต่างๆ ของจังหวัดสระบุรี เมื่อได้ทำการสืบสาวเรื่องราวความเป็นมาของชาวไทยวนจนแน่ชัดแล้ว ส. ต่อไปที่อาจารย์ทรงชัยได้ทำคือ สานต่อวัฒนธรรมให้คงไว้สู่รุ่นลูกรุ่นหลาน นอกจากนั้นยังทำการฟื้นฟู รักษาและเผยแพร่วัฒนธรรมชาวไทยวนให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น จึงได้ทำการจัดตั้งเป็น “หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี” ขึ้นมาในราวปี พ.ศ. 2536 โดยมีกลุ่มชาวไทยวนในละแวกใกล้เคียงรวมตัวกันจัดตั้งเป็นชมรมขึ้นมาและให้อาจารย์ทรงชัยเป็นประธานชมรม บทบาทสำคัญของ “หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี” คือการศึกษาประวัติความเป็นมาซึ่งสอดคล้องกับการสืบสาวเรื่องราวของ ส. แรก ต่อจากนั้นก็ทำการสานต่อวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและประเพณีของชาวไทยวนให้คงอยู่ต่อไป ก็คือ ส. ที่สอง และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีในกลุ่มชาวไทยวนด้วยกัน ซึ่งก็เป็น ส. ที่สามของอาจารย์ทรงชัยที่ได้กล่าวไว้

วันนี้ นอกจากจะมีโอกาสได้เยี่ยมเยียนอาจารย์ทรงชัยแล้ว ก็ยังได้รับความรู้เรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาของบรรพบุรุษของผมเองด้วย เพราะผมก็เป็นไทยวนคนหนึ่งเหมือนกันที่มีภาษาพูดเป็นเอกลักษณ์ของเราเอง คุณพ่อของผมเป็นคนไทยวนมาจากบ้านยางซึ่งก็ไม่ห่างจากเสาไห้มากนัก แล้วคุณแม่ของผมเป็นคนหนองตาไท เพราะฉะนั้นผมก็มีเชื้อสายเป็นคนไทยวนร้อยเปอร์เซนต์ หลังจากที่ได้พูดคุยกับอาจารย์ถึงแนวคิดในการก่อตั้งหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยวนไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลาแล้ว ผมยังมีโอกาสได้ร่วมรับประทานอาหารมื้อเย็น หรือที่ชาวไทยวนเรียกว่า “ข้าวแลงแบบขันโตก” เพราะมีคณะทัวร์ประมาณ 70 กว่าคนจองไว้ล่วงหน้าแล้ว อาจารย์เลยอยากให้ผมอยู่ร่วม “กินข้าวแลงแบบขันโตก” ด้วยกัน ก็ถือเป็นโชคชั้นที่สองของผมสำหรับวันนี้ เพราะจะได้เห็นถึงการเชิญโตก และการฟ้อนรำของเด็กๆ ที่จะถ่ายทอดวัฒนธรรมให้แก่ผู้มาเยือน

อาจารย์เล่าว่า ปัจจุบันหอวัฒนธรรมแห่งนี้นอกจากจะใช้เป็นสถานที่ศึกษาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวไทยวนแล้ว ยังใช้เป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรม สัมมนา หรือจัดเลี้ยงแบบวัฒนธรรมล้านนา มีการกินข้าวแลงแบบขันโตก ชมการฟ้อนรำอันสวยงามของเด็กๆ เรียกว่าไม่ต้องไปไกลถึงล้านนาก็จะได้สัมผัสบรรยากาศแบบเดียวกันได้ที่นี่ นอกจากนั้นอาจารย์ยังเปิดเป็นโฮมสเตย์ (Home Stay) ให้คนที่สนใจได้พักค้างแรมที่นี่เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตการอยู่อาศัยแบบชาวไทยวนแท้ๆ ซึ่งก็เป็นที่ประทับใจแก่ผู้มาเยือนโดยเฉพาะชาวต่างชาติไม่น้อย และต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ให้อาจารย์เปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงอะไรเพิ่มเติมนอกจากคงสภาพเดิมๆ ที่เป็นอยู่นี้ไว้เท่านั้น เพราะสิ่งเดิมๆ เหล่านี้แหละที่นักท่องเที่ยวต้องการเห็น ไม่ใช่สิ่งที่ปรับปรุงต่อเติมขึ้นมาใหม่

บังเอิญวันนี้ผมไม่ค่อยมีโอกาสได้ถ่ายรูปมาฝากมากนัก เพราะมัวแต่คุยกับอาจารย์ซะมากกว่า เลยอดได้รูปสวยๆ มาฝากเพื่อนๆ แต่ก็มีบ้างเล็กน้อยพอให้เห็นบรรยากาศ (ดูรูปเพิ่มเติมได้ที่รูปถ่ายในอัลบั้มชื่อ Local Tai-Yuan Cultural Center, Saraburi) หากเพื่อนๆ ที่สนใจจะไปพักผ่อนและสัมผัสบรรยากาศแบบธรรมชาติริมแม่น้ำป่าสัก และเรียนรู้ถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยวน แล้วยังได้รับประทานอาหารแบบขันโตก พร้อมการต้อนรับอย่างอบอุ่นเป็นกันเอง โดยเฉพาะชาวกรุงเทพฯ ที่ไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงล้านนา ผมขอแนะนำให้ลองไปสัมผัสดูสักครั้งแล้วจะประทับใจไม่รู้ลืม

อาจารย์ทรงชัยย้ำนักย้ำหนากับผมว่า ท่านไม่ได้จัดตั้งหอวัฒนธรรมแห่งนี้ขึ้นมาเพื่อธุรกิจ แต่ทำขึ้นมาตามเจตนารมย์ของ 3 ส. ที่ผมกล่าวถึงไปแล้ว เพราะฉะนั้นผู้ที่มาพักจะเสียค่าที่พักคืนละ 100 บาทต่อคน และค่าอาหารเย็นแบบขันโตกคนละ 150 – 200 บาท รวมแล้ว 250 – 300 บาทต่อคนเท่านั้นก็ได้สัมผัสบรรยากาศแบบเต็มอิ่มได้แล้ว

การเดินทางมาที่นี่ก็ไม่ลำบาก เพราะมีถนนเข้าถึง หากเพื่อนๆ เดินทางมาจากกรุงเทพ ก่อนถึงตัวเมืองสระบุรีจะมีทางเลี่ยงเมืองไปทางลพบุรีและเพชรบูรณ์ ให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนเลี่ยงเมืองนั้นแล้วตรงไปจนข้ามแม่น้ำป่าสักอีกประมาณ 1 กม. ให้สังเกตด้านซ้ายมือจะมีทางแยกไปปากบาง หรือทางหลวงหมายเลข 3225 ให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายนี้อีกประมาณ 3 กม. ก็จะเห็นป้าย “หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี” อยู่ติดถนนด้านซ้ายมือ เนื่องจากห้องพักมีจำนวนจำกัด ท่านใดที่ต้องการพักค้างแรมแบบโฮมสเตย์ควรจะจองไว้ล่วงหน้าก่อน ติดต่อสำรองที่พักได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 036-725224

Comments
  1. Sritala says:

    เป็นสถานที่ที่น่าสนใจมากๆคะ

  2. ♥♥ JOY says:

    คุณอาขา จอยอยู่ scg ที่สระบุรีมา 2 ปี แต่ไม่เคยทราบเลยค่ะ
    ไว้มีโอกาสจะแวะไปชมนะคะ

  3. SP_Ladplakao62 says:

    รีบไปได้เลยครับ บอกอาจารย์ทรงชัยว่าอาแนะนำมา รับรอง…จะได้รับการต้อนรับเป็นพิเศษ

  4. Pat says:

    อ๋อ..รู้ผลแล้วค่ะ ตั้งแต่คืนของวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา ปรากฏว่าเป็นประธานาธิปดีคนแรกของเมกา ที่เป็นผิวสี (คือ ลูกของผิวขาวกับผิวดำค่ะ)  ชื่อว่า Barack Obama ได้ข่าวว่า คนไปลงคะแนนกันล้นหลาม เป็นประวัติการณ์ ได้คะแนนมากกว่า คู่แข่ง เท่าตัว คงเป็นเพราะว่า เค้าเบื่อพรรค ที่จอร์ช บุชอยู่มั้งค่ะ 
     
    ลองไปอ่านประวัติเค้าดูซิค่ะ…ปองเอามาลงในสเปซด้วย (ลงทั้งสองสเปซเลยคะ)
    http://palaburee.spaces.live.com/blog/cns!97E6BDC8267EDAB2!2802.entry

  5. Q says:

    ดีค่ะ … คุณอา
     
    นู๋เคยไปแล้ว ประทับใจมากมาย อาหารก็อร่อย บรรยากาศร่มรื่นมากมาย ทุกวัฒนธรรมมักมีสิ่งที่ดีงานซ่อนไว้ซึ่งความรู้ และความหมายอันลึกซึ้ง
     
    คิดถึงจังเลยค่ะ คิดถึงบรรยากาศ คิดถึงเด็กๆ คิดถึงอาจารย์ คิดถึงขันโตก 555+
     
    ถึงแม้ว่าเราจะย้อนเวลาไปไม่ได้ แต่เราก็สามารถระลึกถึง คิดถึงทุกช่วงเวลาแห่งความทรงจำที่ประทับใจได้ตลอดเวลา
     
    แล้วนู๋จะตั้งหน้าตั้งตารอคุณอามา Up blog + เล่าถึงบรรยากาศเก่าๆ ที่เราเคยเรียนนะคะ
     
    เดินทางโดยสวัสดิภาพนะคะ ขอให้มีความสุขมากๆ นะคะ
     
    ถ้าเจออาจารย์ภาคฯ Food Sci ฝากความคิดถึงไปด้วยนะคะ อุอุ

  6. ♥♥ JOY says:

    อยู่ในเครือ scg ค่ะ ในส่วนของกระเบื้อง COTTO ค่ะ 
    ไว้ได้ไปจะกลับมาเล่าให้ฟังนะคะ

  7. Q says:

    ดีค่ะ … คุณอา
     
    กลับมาทวงสัญญา … เข้ามาติดตามดูรูปแห่งความทรงจำค่ะ
     
    น่าจะสนุกนะคะ
     
    ที่หอวัฒฯ ก็ได้ไปแบบบังเอิญค่ะ แต่ก็ประทับใจมากๆ อยากไปอีกอ่ะ คิดถึง … อาหาร 555+ อร่อยอ่ะ นั่งทานริมน้ำ ทานไป ดูการแสดงพื้นบ้านไป ได้บรรยากาศมากมาย ไม่ต้องไปไกลถึงเชียงใหม่เลย T^T อยากไปอีกจัง
     
    มีความสุขมากๆ นะคะคุณอา
     
    คิดถึงค่ะ อ้อ!! ม๊ะคืนดูรายการสารคดีท่องเที่ยงอะไรซักอย่าง พาไปเที่ยว Christchurch ด้วย คิดถึงน้องนู๋จังเลยค่ะ ฝากความคิดถึงให้น้องด้วนะคะ อิอิ

  8. nataya says:

    ช่ายค่ะๆๆ
     
     
    สุดๆแล้วคือ ปาย!!!

Leave a comment