เที่ยวเสียมเรียบ, กัมพูชา – วันแรก

          ช่วงนี้คิดไม่ออกว่าจะเขียนอะไรลงบล็อกดี บังเอิญว่ามีเดินทางไปโน่นมานี่บ่อย เลยทำให้มีเรื่องการเดินทางมาเล่าสู่กันอ่าน ในระหว่างวันที่ 26 – 28 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา มีโอกาสได้ร่วมเดินทางไปกับบริษัท สยามมิชลิน จำกัด ซึ่งได้พาลูกค้าที่เขาเรียกว่า VIP End-Users ไปเที่ยวพักผ่อนที่จังหวัดเสียมเรียบ (เสียมราฐ) ประเทศกัมพูชา ครั้งแรกที่ทางมิชลินแจ้งมาก็ไม่ค่อยสนใจนัก เพราะในใจคิดว่าประเทศกัมพูชาคงไม่มีอะไรน่าดู แต่พอทางมิชลินบอกว่ามีโปรแกรมให้ไปตีกอล์ฟฟรี แล้วยังมีโปรแกรมพาเที่ยวนครวัด นครธม และปราสาทต่างๆ ภายในจังหวัดเสียมเรียบด้วย ก็เลยทำให้เกิดความสนใจขึ้นมาทันที เพราะอย่างน้อยนครวัดก็เคยเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกมาก่อน ซึ่งผมยังไม่เคยไป ที่เคยไปมาแล้วก็จะมีกำแพงเมืองจีน มหาปิรามิดที่อียิปต์ พระราชวังแวร์ซายส์ที่ฝรั่งเศส ความใฝ่ฝันที่ตั้งไว้คือจะพยายามไปดูสิ่งมหัศจรรย์ของโลกให้ครบทุกแห่ง แต่คงไม่ใช่ 7 แห่งซะแล้ว เพราะมีการโหวตใหม่อยู่ทุกปี แล้วบางแห่งก็เสียตำแหน่งไป อย่างเช่น นครวัด ปี 2010 ก็ไม่ได้เป็น 1 ใน 7 แล้ว เพราะมีน้ำตกไนแองการ่าที่แคนนาดาขึ้นมาแทน ที่เห็นได้ตำแหน่งไม่มีหลุด ก็น่าจะเป็นมหาปิรามิดและกำแพงเมืองจีนเท่านั้น นอกนั้นก็สลับสับเปลี่ยนกันเป็น 1 ใน 7 อยู่เรื่อยๆ

          การเดินทางไปจังหวัดเสียมเรียบโดยทางเครื่องบินจากสนามบินสุวรรณภูมิถึงสนามบินเสียมเรียบใช้ระยะเวลาบินประมาณ 35 – 40 นาทีเท่านั้น แปลกใจใช่มั๊ยครับว่าการเดินทางออกต่างประเทศทั้งทีทำไมใช้ระยะเวลาบินน้อยกว่าการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังเชียงใหม่หรือภูเก็ตด้วยซ้ำ ผมก็แปลกใจเพราะนี่คือการบินออกต่างประเทศที่ใช้ระยะเวลาบินน้อยที่สุดเท่าที่เคยบินมา วันนั้นออกเดินทางประมาณ 8 โมงกว่าๆ เวลา 9 โมง (เวลาที่กัมพูชากับเมืองไทยเป็นเวลาเดียวกัน) เครื่องบินแบบ A320 ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ก็ลงสู่สนามบินนานาชาติเสียมเรียบเป็นที่เรียบร้อย ครั้งแรกที่มองลอดช่องหน้าต่างเครื่องบินออกไปเห็นบริเวณสนามบินยังไม่ค่อยแน่ใจว่านี่เรามาอยู่ต่างประเทศแล้วเหรอ ในใจยังคิดว่าเครื่องบินพาเรามาลงที่สนามบินจังหวัดสุราษฎร์ธานีของเราหรือเปล่า นี่ขนาดเป็นสนามบินนานาชาติเลยนะ แต่เท่าที่ดูด้วยตาของผมเองคาดว่ายังจะเล็กกว่าสนามบินภายในประเทศของเราบางแห่งด้วยซ้ำ แต่ก็เอาเถอะ อย่างน้อยเราก็ได้มาเหยียบแผ่นดินกัมพูชาได้อย่างปลอดภัยแล้ว

  

          ลองมาดูข้อมูลของประเทศนี้พอสังเขปก่อนนะครับ ประเทศกัมพูชา หรือประเทศเขมรที่คนไทยเราชอบเรียกมีประชากรทั้งสิ้นประมาณ 14 ล้านคน มีพื้นที่ 181,035 ตารางกิโลเมตร (หรือเล็กกว่าประเทศไทยเกือบ 3 เท่า เพราะประเทศไทยเรามีพื้นที่ 513,115 ตารางกิโลเมตร) ประกอบด้วยเขตการปกครอง 24 จังหวัด โดยมีกรุงพนมเปญเป็นเมืองหลวงปัจจุบัน สกุลเงินของกัมพูชาคือสกุลเงินเรียล (KHR) อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประมาณ 100 เรียลเท่ากับ 1 บาทไทย หรือถ้าคิดง่ายๆ ก็คือ 1 เรียลก็เท่ากับ 1 สตางค์ของไทยนั่นเอง แต่เวลาเราเดินทางไปกัมพูชา ไม่จำเป็นต้องแลกเงินให้ยุ่งยาก เพราะร้านค้าเกือบทุกร้านรับเงินบาทไทยและเงินดอลล่าร์สหรัฐ แต่เขาจะถอนเป็นเงินเรียลให้ ธนบัตรต่ำสุดของเงินกัมพูชาคือ 50 เรียล (50 สตางค์ของไทย ที่นี่จะไม่มีเหรียญมีแต่ธนบัตร) และธนบัตรใบที่มีมูลค่ามากสุดเท่าที่ทราบคือใบละ 100,000 เรียล (1,000 บาทไทย) คนกัมพูชาส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเหมือนคนไทย และก็ถือเป็นศาสนาประจำชาติเหมือนกัน ส่วนระบบไฟฟ้าก็ใช้เหมือนบ้านเราครับ จึงไม่จำเป็นต้องเตรียมอะแด็ปเตอร์หรือปลั๊กไฟอย่างอื่นไปให้ยุ่งยากเหมือนบางประเทศ เรียกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ในบ้านเราก็เอาไปเสียบปลั๊กที่นั่นได้เลย

          กลับมาเล่ากันต่อถึงเรื่องการเดินทางดีกว่า สถานที่แรกที่คณะของมิชลินพาไปหลังจากถึงตัวจังหวัดเสียมเรียบแล้วคือศาลเจ้าเจ๊ก-เจ้าจอม ซึ่งถือเสมือนศาลคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเสียมเรียบ ศาลเจ้าดังกล่าวตั้งอยู่ด้านหน้าของพระราชวังของเจ้าสีหนุ ซึ่งถ้าดูเผินๆ และไม่มีใครบอกก็ไม่ได้คิดว่าเป็นพระราชวังเพราะดูคล้ายๆ สถานที่ราชการทั่วไป หลังจากสักการะศาลเจ้าเจ๊ก-เจ้าจอมเพื่อเป็นศิริมลและขอพรให้คุ้มครองพวกเราตลอดระยะเวลาที่อยู่ในแผ่นดินกัมพูชาแล้ว ก็ออกเดินทางไปยังโตนเลสาบ (ทะเลสาบเขมร) ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่กว้างใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาว่ากันว่าปีที่น้ำมากที่สุด น้ำจากทะเลสาบจะเอ่อขึ้นมาท่วมบ้านเรือนและพื้นที่โดยรอบทะเลสาบทำให้ทะเลสาบมีพื้นที่กว้างถึง 7,500 ตารางกิโลเมตรและมีความลึกถึง 10 เมตรทีเดียว โตนเลสาบติดกับอาณาเขตของ 5 จังหวัดคือ กำปงธม กำปงซะนัง โพธิสัตว์ พระตะบอง และเสียมเรียบ แต่วันที่ไปนั้นทราบว่าเป็นช่วงที่น้ำในทะเลสาบลดลงเกือบจะต่ำสุดในรอบ 5 ปี เลยทำให้อาณาบริเวณของทะเลสาบลดน้อยลงไปเช่นกัน

  

          ระหว่างลงเรือเพื่อลัดเลาะออกไปชมความกว้างใหญ่ของโตนเลสาบ ก็จะผ่านหมู่บ้านชาวประมงที่อยู่ริมทะเลสาบแห่งนี้ เนื่องจากโตนเลสาบเป็นแหล่งน้ำที่มีปลาน้ำจืดกว่า 300 ชนิด จึงเป็นแหล่งอาหารและรายได้หลักของชาวประมงที่อยู่ริมฝั่งมาช้านาน แต่ที่น่าสังเกตก็คือ หมู่บ้านประมงเหล่านี้ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ มืดค่ำลงก็อาศัยแสงไฟจากตะเกียงน้ำมัน หรือดีหน่อยก็ได้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ บ้านไหนพอมีฐานะดีก็อาจจะมีทีวีขาวดำดูจากไฟแบตเตอรี่ ถือว่าเป็นชุมชนที่ยังล้าหลังหรือห่างไกลความเจริญอยู่มากพอสมควร นอกจากจะทำอาชีพประมงเป็นอาชีพหลักแล้ว ที่เห็นอีกอาชีพหนึ่งก็คือขอทาน ใช่แล้วครับอ่านไม่ผิดหรอกผมเขียนว่า “ขอทาน” จริงๆ เพราะในขณะที่เรือนักท่องเที่ยวแต่ละลำแล่นผ่านหมู่บ้านชาวประมงเหล่านี้ออกไปกลางทะเลสาบ หรือจะจอดแวะซื้อของที่ระลึกตามร้านค้าริมฝั่งทะเลสาบก็ตาม จะมีขอทานขับเรือหางยาวตามประกบเรือนักท่องเที่ยว เท่าที่เห็นวันนั้นส่วนมากจะเป็นแม่ขับเรือแล้วเอาลูกตัวเล็กตัวน้อยลงเรือมาพร้อมกับงู 1 ตัว โดยเด็กจะเอางูมาอุ้มรัดรอบตัวจับหัวงูชูให้นักท่องเที่ยวเห็น ปากก็พูดตลอดไม่ยอมหยุด แต่ผมฟังไม่ออกว่าเป็นภาษาอะไร เท่าที่หูของผมรับสัญญาณเสียงและประมวลผลออกมาเหมือนกับผมจะได้ยินว่า “ไทยบาทกะได้ๆๆๆๆ” ฮ่าๆๆๆ ไม่รู้หูผมคิดไปเองหรือเปล่า แต่ที่ยังสงสัยก็คือไม่รู้ว่าเจตนาจะเอางูมาขู่นักท่องเที่ยวหรือเปล่า (ในใจของเด็กนั้นอาจจะคิดว่า ถ้ามาขอตังค์แล้วไม่ให้ เดี๋ยวจะโยนงูขึ้นไปบนเรือซะเลย) ในขณะที่นั่งอยู่บนเรือแล้วมีเรือขอทานขับตามมาลำแล้วลำเล่าก็ทำให้ผมคิดในใจเงียบๆ คนเดียวเพลินๆ ว่า “เราไปเป็นหนี้พวกนี้แต่ชาติปางไหน ถึงทำให้เรามาเจอพวกเขาตามมาขอตังค์แบบนี้) ที่เล่ามานี่แหละครับคือการล่องเรือในโตนเลสาบเพื่อดูวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งว่าเขาอยู่กันยังไง ลองดูภาพประกอบก็คิดว่าพอจะนึกบรรยากาศออกบ้างนะครับ

  

  

  

          กลับขึ้นฝั่งจากโตนเลสาบ ก็มุ่งหน้าไปยังตลาดซาจ๊ะ (Old Market) หรือบางคนก็เรียกว่าตลาดต้นโพธิ์ เพราะมีต้นโพธิ์ต้นใหญ่อยู่หนึ่งต้นอยู่ริมถนนฝั่งตรงข้ามกับตลาดดังกล่าว ใครเดินเข้าไปในตลาดแล้วเกิดพลัดหลงกันก็ให้หาทางออกมารอเจอกันที่ใต้ต้นโพธิ์นั่นแหละครับ ตลาดนี้ก็จะขายของทั่วไปทั้งเสื้อผ้า ของใช้ ของที่ระลึกสำหรับนักเที่ยว อาหารและผักสด หลังจากสำรวจดูแล้วก็ไม่ได้อะไรติดมือกลับมาสักชิ้น เพราะดูๆ ก็ไม่มีอะไรน่าซื้อกลับบ้านสักอย่าง เรียกว่า “สนุกจังตังค์อยู่ครบ ฮ่าๆๆๆ”

  

          ออกจากตลาดซาจ๊ะ ก็แวะไปรับประทานอาหารมื้อค่ำในตัวเมืองเสียมเรียบแล้วก็ไปแวะชมตลาดกลางคืน (Angkor Night Market) ซึ่งก็ไม่มีอะไรมาก คล้ายๆ กับตลาดซาจ๊ะ แต่เปิดขายตอนกลางคืน แต่มีแสงสีเท่านั้น เท่าที่เห็นแปลกขึ้นมาหน่อยก็จะมีร้านที่เปิดให้บริการทำสปาเท้าด้วยปลา (รู้สึกผมจะเคยเห็นบริการแบบเดียวกันนี้ที่ตลาดน้ำลำพญา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม) คือจะมีอ่างน้ำขนาดใหญ่ให้นักท่องเที่ยวที่จะใช้บริการนั่งเอาเท้าแช่ลงไปในน้ำ แล้วในน้ำก็จะมีปลาตัวเล็ก ไม่ได้ถามเหมือนกันว่าเป็นปลาอะไร ไม่รู้ว่าใช่ปลา Garra Rufa หรือเปล่า แต่ที่รู้ๆ ก็คือเจ้าปลาตัวเล็กเหล่านี้มันชอบมาแทะมาดูดหนังเท้าของคนเป็นที่สุด ได้ยินแล้วจั๊กจี้ตามมั๊ยครับ แต่จะจั๊กจี้มากขึ้นถ้าได้รู้ว่าก่อนที่เจ้าปลาตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้จะมากัดๆ แทะๆ หนังเท้าเรานั้น ไม่ทราบว่ามัดไปแทะหนังเท้าของคนเป็นโรคผิวหนังมาบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้ ทราบเช่นนี้ถ้าใครอยากจะลองเอาเท้าตัวเองไปให้เจ้าปลาเหล่านี้แทะเล่นก็ตามสะดวกนะครับ ผมคนหนึ่งละไม่ขอลอง อึ๊ยยย…

  

          ออกจากตลาด Angkor Night Market ก็นั่งรถมอเตอร์ไซด์พ่วง คนเขมรก็เรียกว่ารถตุ๊กตุ๊ก หรือรถสกายแล็บเพื่อกลับที่พักที่ Sofitel Phokeetra Royal Angkor Hotel ก็เป็นอันว่าวันแรกของการเดินทางมายังกัมพูชาหมดลงแต่เพียงเท่านี้ วันที่สองมีโปรแกรมอีกเพียบ แต่วันนี้ขอพักก่อน เพราะคนเขียนก็ตาลาย และก็เชื่อว่าใครอ่านมาถึงตรงนี้ได้ก็คงจะตาลายเหมือนกัน

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
Trip To Siem Reap – Day 2
Trip To Siem Reap – END
SlideShow – Trip To Siem Reap 2010

Comments
  1. Moo says:

    แหมๆท่านลูกค้า VIP

Leave a comment